จริยธรรมการใช้คอมพิวเตอร์และระบบเครือข่าย แนวปฏิบัติที่ควรรู้ในโลกดิจิทัล
Student blog — 28/03/2025

จริยธรรมในการใช้คอมพิวเตอร์และระบบเครือข่าย
ในปัจจุบัน คอมพิวเตอร์และระบบเครือข่ายมีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การศึกษา การสื่อสาร หรือความบันเทิง อย่างไรก็ตาม การใช้งานที่ขาดจริยธรรมและไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้อื่น อาจก่อให้เกิดความเสียหาย ทั้งในด้านข้อมูล ทรัพย์สิน หรือสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งในบางกรณีอาจร้ายแรงถึงขั้นนำไปสู่การฟ้องร้องเป็นคดีความทางกฎหมาย ดังนั้น การตระหนักถึงหลักจริยธรรมในการใช้คอมพิวเตอร์และระบบเครือข่ายจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ใช้งานทุกคนควรให้ความสำคัญ และควรปฏิบัติตามบัญญัติ 10 ประการของจริยธรรมคอมพิวเตอร์ ดังนี้
- ไม่ใช้คอมพิวเตอร์เพื่อทำร้ายผู้อื่น
ตัวอย่างเช่น การโพสต์ข้อความหมิ่นประมาท ดูถูก หรือกลั่นแกล้งผู้อื่นบนโซเชียลมีเดียถือเป็นการทำร้ายผู้อื่นทางออนไลน์ (Cyberbullying)
- ไม่รบกวนหรือแทรกแซงงานของผู้อื่น
ตัวอย่างเช่น การส่งสแปม หรืออีเมลจำนวนมากไปยังที่อยู่อีเมลของบุคคลอื่น ทำให้ระบบทำงานช้าหรือก่อให้เกิดความเดือนร้อนรำคาญ หรือแม้กระทั่งการใช้เสียงดังรบกวนผู้อื่นที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง
- ไม่สอดแนม แก้ไข หรือเปิดดูไฟล์ของผู้อื่น
ตัวอย่างเช่น การแอบเปิดอีเมล ไฟล์ หรือข้อมูลส่วนตัวของเพื่อนร่วมงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ถือเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัว
- ไม่ใช้คอมพิวเตอร์เพื่อขโมยข้อมูล
ตัวอย่างเช่น การแฮกระบบเพื่อขโมยข้อมูลบัตรเครดิตหรือรหัสผ่านของผู้อื่น หรือข้อมูลของบริษัทหรือหน่วยงานและนำไปใช้ในทางมิชอบ
- ไม่ใช้คอมพิวเตอร์เพื่อสร้างหรือให้ข้อมูลเท็จ
ตัวอย่างเช่น การสร้างหรือเผยแพร่ข่าวปลอม (Fake News) หรือข้อมูลบิดเบือนบนโซเชียลมีเดียเพื่อหลอกลวงหรือทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสังคม หรือการการแฮกระบบเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงคะแนนสอบ
- ไม่ใช้หรือคัดลอกซอฟต์แวร์โดยไม่ได้รับอนุญาต
ตัวอย่างเช่น การดาวน์โหลดและใช้งานโปรแกรมโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์
- ไม่ใช้ทรัพยากรคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต
ตัวอย่างเช่น การใช้ Wi-Fi ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือการใช้เซิร์ฟเวอร์ของบริษัทเพื่อทำงานส่วนตัวโดยไม่ได้รับอนุญาต
- ไม่แอบอ้างเอาผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตนเอง
ตัวอย่างเช่น การคัดลอกบทความ งานวิจัย หรือซอร์สโค้ดของผู้อื่น แล้วนำมาอ้างว่าเป็นผลงานของตนเองโดยไม่มีการให้เครดิต
- ควรคำนึงถึงผลกระทบทางสังคมจากโปรแกรมที่พัฒนา
ตัวอย่างเช่น นักพัฒนาซอฟต์แวร์ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นไม่มีช่องโหว่ที่อาจก่อให้เกิดอันตราย เช่น ซอฟต์แวร์ที่ละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้
- ควรใช้คอมพิวเตอร์ด้วยความเคารพต่อกฎระเบียบ กติกา และมีมารยาท
ตัวอย่างเช่น ไม่โพสต์หรือส่งข้อมูลที่ขัดกับหลักหรือกฎเกณฑ์ของกลุ่ม ไม่ส่งต่อเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมหรือเป็นภัยต่อสังคม และการให้เกียรติผู้อื่นในการสื่อสารออนไลน์ด้วยการใช้คำพูดที่สุภาพ
การใช้คอมพิวเตอร์และระบบเครือข่ายอย่างมีจริยธรรมเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้สังคมดิจิทัลดำเนินไปอย่างปลอดภัยและมีระเบียบ ผู้ใช้งานควรตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการกระทำของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล การขโมยข้อมูล หรือการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จ ซึ่งอาจส่งผลเสียหายทั้งต่อตนเองและผู้อื่น บัญญัติ 10 ประการของจริยธรรมคอมพิวเตอร์จึงเป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการใช้งานอย่างถูกต้อง มีความรับผิดชอบ และเคารพต่อผู้อื่นในโลกออนไลน์ หากทุกคนปฏิบัติตามหลักจริยธรรมนี้ ก็จะช่วยลดปัญหาทางสังคมบนโลกเทคโนโลยีรวมถึงปัญหาทางด้านกฎหมายที่อาจเกิดขึ้น และทำให้การใช้คอมพิวเตอร์เป็นไปในทางที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม
หลักสูตรวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.หอการค้าไทย มีรายวิชาด้านจริยธรรมและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพด้านคอมพิวเตอร์ที่มุ่งเน้นให้นักศึกษาเป็นผู้มีคุณธรรมจริยธรรมในการประกอบอาชีพ และให้มีความรู้ด้านกฎหมายที่จำเป็นกับการประกอบอาชีพและการดำเนินชีวิตในสังคมปัจจุบัน
สอนโดยอาจารย์ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญ และที่สำคัญที่สุดคือ เป็นกันเอง เข้าใจ และเปิดใจรับฟังนักศึกษา !!!
เอกสารอ้างอิง
- Rinaldi, Arlene H. (n.d.). The Net: User Guidelines and Netiquette – Index. [Online] retrieved from https://web.augsburg.edu/~erickson/edc220/netiquette/rinaldi.html#BIBLIOGRAPHY
- ยืน ภู่วรวรรณ. (n.d.). จริยธรรมสำหรับผู้ใช้อินเทอร์เน็ต. [ออนไลน์] สืบค้นจาก
https://www.nectec.or.th/schoolnet/about/conduct.php3.html - อารีลักษณ์ ปุ๊กน้อย. (2558). คุณธรรมจริยธรรมในการใช้อินเทอร์เน็ต. [ออนไลน์] สืบค้นจาก
https://oho.ipst.ac.th/internet-moral-ethics/