Blog

ทำความรู้จักกับ Machine Learning (การเรียนรู้ของเครื่อง)

ทำความรู้จักกับ Machine Learning (การเรียนรู้ของเครื่อง)

ทำความรู้จักกับ Machine Learning (การเรียนรู้ของเครื่อง)

Student blog — 07/01/2025

ทำความรู้จักกับ Machine Learning (การเรียนรู้ของเครื่อง)

Machine Learning (การเรียนรู้ของเครื่อง) คือ สาขาหนึ่งของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ที่ทำให้คอมพิวเตอร์สามารถเรียนรู้และปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานได้เองจากข้อมูลที่มีอยู่ โดยไม่จำเป็นต้องมีการเขียนโปรแกรมทุกขั้นตอน เหมือนกับที่มนุษย์สามารถเรียนรู้ได้จากสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วหรือประสบการณ์นั่นเอง

1. Machine Learning คืออะไร

Machine Learning คือ กระบวนการที่ระบบคอมพิวเตอร์สามารถเรียนรู้จากข้อมูลและประสบการณ์ เพื่อปรับปรุงความสามารถในการทำงานให้ดีขึ้นในอนาคต โดยที่ระบบจะสร้างตัวแบบ หรือโมเดล (Model) ขึ้นจากชุดข้อมูลตัวอย่าง (Training Data) เพื่อคาดการณ์หรือตัดสินใจ โดยไม่จำเป็นต้องมีการเขียนชุดคำสั่งหรือโปรแกรมเพื่อควบคุมการทำงานในทุกขั้นตอน

หรืออาจกล่าวได้ว่า คอมพิวเตอร์สามารถเรียนรู้จากข้อมูลที่มีอยู่ แล้วใช้สิ่งที่ได้เรียนรู้ในการทำนายหรือตัดสินใจผลลัพธ์ที่ (อาจจะ) เกิดขึ้นเมื่อมีข้อมูลใหม่เข้ามานั่นเอง

ตัวอย่างของการใช้งาน Machine Learning ได้แก่:

  • การคาดการณ์ราคาหุ้น
  • ระบบแนะนำ (Recommendation Systems) เช่นใน Netflix หรือ YouTube
  • การจดจำเสียงและภาพ เช่น Google Assistant และ Face ID
  • การวิเคราะห์ทางการแพทย์ เช่น การวินิจฉัยโรคจากภาพเอ็กซเรย์

ทำความรู้จักกับ Machine Learning (การเรียนรู้ของเครื่อง)

2. ประเภทของ Machine Learning

การเรียนรู้ของเครื่องสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทหลัก ได้แก่

  • การเรียนรู้แบบมีผู้สอน (Supervised Learning): โมเดลเรียนรู้จากข้อมูลที่มีป้ายกำกับ (Labeled Data) เช่น การทำนายราคาบ้านโดยใช้ข้อมูลราคาบ้านที่เคยถูกขายไปก่อนหน้านี้
  • การเรียนรู้แบบไม่มีผู้สอน (Unsupervised Learning): โมเดลวิเคราะห์ข้อมูลที่ไม่มีป้ายกำกับ (Unlabeled Data) เช่น การจัดกลุ่มลูกค้า (Customer Segmentation) โดยวิเคราะห์ถึงพฤติกรรมต่าง ๆ เช่น ประเภทสินค้าที่ซื้อเป็นประจำ หรือ จำนวนเงินที่ใช้จ่าย
  • การเรียนรู้แบบเสริมแรง (Reinforcement Learning): โมเดลเรียนรู้ผ่านการทดลองและการให้รางวัล เช่น การพัฒนาหุ่นยนต์ที่สามารถเดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือการเรียนรู้โดยการลองผิดลองถูกนั่นเอง

ทำความรู้จักกับ Machine Learning (การเรียนรู้ของเครื่อง)

3. การประยุกต์ใช้ Machine Learning ในชีวิตประจำวัน

Machine Learning มีบทบาทอย่างมากในชีวิตประจำวันของเรา เช่น

  • การแพทย์: การวินิจฉัยโรคจากข้อมูลภาพถ่ายทางการแพทย์ การวิเคราะห์ยีน (Gene) เพื่อพัฒนายารักษาเฉพาะบุคคล และการวิเคราะห์ถึงสุขภาวะจากข้อมูลด้านการเคลื่อนไหวของร่างกาย
  • การเงิน: การวิเคราะห์ความเสี่ยงในการให้สินเชื่อ การตรวจจับการฉ้อโกง และการทำนายราคาหุ้น
  • การขนส่ง: ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ (Autonomous Vehicles) และการวิเคราะห์เส้นทางการขนส่งที่ดีที่สุด
  • การตลาด: การวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อปรับปรุงกลยุทธ์ทางการตลาด และการพัฒนาผลิตภัณฑ์/บริการใหม่
  • เกษตรกรรม: การพยากรณ์ผลผลิตและการจัดการฟาร์ม จากข้อมูลด้านสภาพอากาศ คุณภาพของดิน น้ำ และภัยธรรมชาติ

ทำความรู้จักกับ Machine Learning (การเรียนรู้ของเครื่อง)

4. ความท้าทายและโอกาสในอนาคต

แม้ Machine Learning จะมีศักยภาพ แต่ก็ยังมีประเด็นด้านความท้าทาย เช่น

  • ความเป็นส่วนตัวของข้อมูล: การจัดการข้อมูลที่มีความอ่อนไหวต้องระมัดระวังด้านความเป็นส่วนตัว
  • อคติในข้อมูล: ข้อมูลที่ไม่สมดุลหรือมีอคติอาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ไม่ถูกต้อง
  • ทรัพยากรในการพัฒนา: การพัฒนาโมเดล Machine Learning ต้องการทรัพยากรสูง ทั้งในด้านจำนวนและคุณภาพของข้อมูล กำลังด้านการคำนวณ และบุคลากรผู้เชี่ยวชาญที่สามารถพัฒนาหรือใช้งานโมเดลหรือเครื่องมือต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง
สรุป
Machine Learning หรือการเรียนรู้ของเครื่อง เป็นเทคโนโลยีที่ทรงพลังซึ่งช่วยให้เครื่องจักร (เช่น คอมพิวเตอร์) สามารถเรียนรู้จากข้อมูล และเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนเราในหลากหลายด้าน ด้วยการทำนายหรือตัดสินใจจากสิ่งที่ได้เรียนรู้ การพัฒนาและการนำ Machine Learning ไปใช้อย่างเหมาะสมจะช่วยแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ได้อย่างมากมาย อย่างไรก็ตามความถูกต้องของผลลัพธ์ที่ได้นั้น ขึ้นอยู่กับจำนวน และคุณภาพของข้อมูล รวมถึงความถูกต้องของโมเดล และต้องคำนึงถึงประเด็นด้านความเป็นส่วนตัวของข้อมูลด้วย
หลักสูตรวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.หอการค้าไทย มีรายวิชา “Machine Learning” ให้นักศึกษาได้เรียน รวมถึงรายวิชาเอกด้าน AI มากมายให้เลือกเรียนตามความสนใจ โดยมุ่งเน้นด้านการพัฒนาระบบ AI การใช้เครื่องมือด้าน AI การวิเคราะห์ผลลัพธ์ที่ได้จาก AI และจริยธรรมด้าน AI โดยมีวิชาปูพื้นฐานสำหรับนักศึกษาที่ไม่ได้จบสายวิทยาศาสตร์หรือสายคอมพิวเตอร์ วิชาด้านทฤษฎี และวิชาด้านปฏิบัติการ เพื่อให้สามารถพัฒนาระบบอัจฉริยะ (Intelligent System) และสามารถต่อยอดได้ รวมถึงมีความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญจากภาคธุรกิจ ให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากตัวจริง และสามารถฝึกงาน / ทำงานจริงในระหว่างเรียน
สอนโดยอาจารย์ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญ และที่สำคัญที่สุดคือ เป็นกันเอง เข้าใจ และเปิดใจรับฟังนักศึกษา !!!