Blog

มารู้จักการท่องเที่ยวเชิงอาหาร(Gastronomy Tourism) กัน

มารู้จักการท่องเที่ยวเชิงอาหาร(Gastronomy Tourism) กัน

มารู้จักการท่องเที่ยวเชิงอาหาร(Gastronomy Tourism) กัน

Student blog — 06/02/2025

มารู้จักการท่องเที่ยวเชิงอาหาร(Gastronomy Tourism) กัน
รู้จักการท่องเที่ยวเชิงอาหาร(Gastronomy Tourism) รึยัง

การท่องเที่ยวกับอาหารมาเกี่ยวข้องกันได้อย่างไร

แน่นอนการท่องเที่ยวย่อมมีความสัมพันธ์กับอาหาร เพราะแหล่งท่องเที่ยวแต่ละจุดย่อมต้องมีร้านอาหารรองรับนักท่องเที่ยว แต่ในสมัยก่อนสถานที่ท่องเที่ยวกับร้านอาหารโดยส่วนมาก จะเป็นเอกเทศไม่เกี่ยวข้องกัน เป็นเพียงไปเที่ยวแล้วแวะร้านอาหารระหว่างทางเท่านั้น แต่ปัจจุบันร้านอาหารผันตัวให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวไปในตัว มีจุดเช็คอิน รวมถึงบรรยากาศที่รองรับนักท่องเที่ยวได้ตื่นตาตื่นใจกับอาหาร บริการ และบรรยากาศ
การท่องเที่ยวเชิงอาหารจึงพัฒนารูปแบบ โดยเน้นการเยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นแหล่งผลิตอาหารที่เป็น signature ของชุมชนนั้น รวมทั้งเทศกาลอาหาร ร้านอาหารที่มีความโดดเด่นเกี่ยวกับอาหารถิ่น และการเรียนรู้ประสบการณ์ทางด้านอาหารในการชิมอาหารและเครื่องดื่มผสมผสานการเชื่อมโยงวัฒนธรรมกับประวัติศาสตร์และวิถีถิ่นวิถีชุมชน ไม่ว่าจะเป็นชนกลุ่มน้อยอันหลากหลายทางชนชาติ ณ แหล่งนั้น นับเป็นการสร้างสตอรี่ของอาหารที่น่าสนใจ ที่เน้นอาหารเป็นจุดให้เราเข้าสัมผัสวิถีถิ่นอย่างใกล้ชิดมากขึ้น เพราะน้อยคนนักที่อยู่ๆจะเริ่มจากการต้องการสัมผัสวิถีชุมชมอย่างแท้จริง แต่เพราะได้อาศัยอาหารที่มีรสชาติและความเป็นเอกลักษณ์ (unique) นั่นเองทำให้เราเข้าถึงชุมชนได้เป็นอย่างดี

Gastronomy tourism goes far beyond just what is “on the plate” การท่องเที่ยวเชิงอาหารคืออะไร

ความหมายของการท่องเที่ยวเชิงอาหาร มีความลึกซึ้งมากกว่าแค่การดื่มหรือกินอาหารเด็ดเมนูดังตามแหล่งท่องเที่ยว แต่ยังครอบคลุมไปถึงการเยี่ยมชมแหล่งการผลิตวัตถุดิบอันเป็นต้นน้ำของกระบวนการผลิต เช่น การท่องเที่ยวเชิงเกษตร เยี่ยมชมแหล่งผลิตแบบพื้นถิ่น ในแหล่งชุมชนหรือศูนย์การเรียนรู้ ไปจนถึงปลายน้ำของการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารอันได้แก่การผลิตสินค้าที่มีการสร้างมูลค่าเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นการนำวัตถุดิบมาเสริมคุณค่าเพื่อตอบสนองความพึงพอใจให้กับนักท่องเที่ยว หรือแม้แต่การนำสินค้ามาบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม สะดวกต่อการขนย้าย หรือแม้แต่การจัดการเศษอาหารเหลือทิ้งให้มีประโยชน์ขึ้นมา (เช่น การนำเปลือกมะม่วงที่เหลือจากการนำมะม่วงไปทำแช่อิ่ม มาสกัดเพคติน หรือการนำเศษอาหารจากร้านอาหารมาหมักทำปุ๋ย หรือทำอาหารสัตว์) ด้วยความต่อเนื่องนี้จะเป็นโอกาสอันดีให้นักท่องเที่ยวได้เติมเต็มประสบการณ์และสัมผัสกิจกรรมท่องเที่ยวอันหลากหลายที่เกี่ยวเนื่องมาจากอาหาร ซึ่งจะยังประโยชน์ให้เกิดกับสังคมเศรษฐกิจของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รวมถึงสัมผัสวัฒนธรรมท้องถิ่น รวมถึงศาสนาในชุมชนนั้นๆ

มารู้จักการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) กัน, การท่องเที่ยวเชิงอาหาร, วัฒนธรรมอาหารและการท่องเที่ยว, อาหารท้องถิ่นกับการท่องเที่ยว, ประสบการณ์ท่องเที่ยวเชิงอาหาร

ขอบคุณรูปภาพจาก Tourismproduct.tourismthailand.org

หัวใจหลักของการท่องเที่ยวเชิงอาหาร ที่ควรนำไปใช้เพื่อสร้างสตอรี่ให้อาหารในชุมชน 4 ประการ คือ

1.Farming System
เริ่มต้นจากการเดินทางไปยังแหล่งกำเนิดอาหาร อันได้แก่ ศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ ที่มีแปลงผัก สวนผลไม้ บ้านไร่ บ่อปลา บ่อกุ้ง หรือท้องนา ในแนวทางเกษตรปลอดภัย สร้างความตระหนักถึงความสำคัญของอาหารต่อสุขภาพและการกินดีมีสุข โดยเน้นว่าสถานที่นั้นมีวัตถุดิบใดเป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิต เช่น อำเภอสวนผึ้ง จะมีผักกูด เป็นผักพื้นถิ่น ก็จะได้เยี่ยมชมการปลูกและการนำมาใช้ประโยชน์ หรือปลาดู (ปลาร้าสด) ที่เป็น signature ของชุมชนในจังหวัดนครนายกที่จังหวัดอื่นไม่มี หรือใบเหลียง สะตอ ลูกเหนียง ที่เป็นผักพื้นถิ่นภาคใต้ เป็นต้น
2.Story of Food
คุณค่าของเรื่องราวเบื้องหลังที่ทำให้คุณค่าของอาหารแต่ละจานโดดเด่นและเป็นที่จดจำ อาหารหนึ่งจานรวบรวมเรื่องราวมรดกภูมิปัญญา ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมการกินของชุมชนนั้นๆ วิธีการนำเสนออาหาร ล้วนแต่เป็นการสร้างสรรค์ความดื่มด่ำให้เกิดการลิ้มรสอาหาร อาหารจึงเป็นมากกว่าอาหารเสมอ เพราะนอกจากจะได้รับรสชาติแล้ว ยังได้อรรถรสทางตา หู จมูก กาย และใจอีกด้วย สมกับคำว่า “อาหารทั้ง 5 ทวาร” ซึ่งเรื่องราวของอาหารแต่ละประเภทย่อมมีตำนานที่มาที่สามารถใช้สื่อสารให้ผู้บริโภคได้เข้าถึง ซาบซึ้งและมีส่วนร่วมในอาหารนั้น เช่น ข้าวแช่ที่เป็นอาหารของชาวมอญในจังหวัดปทุมธานี ถือเป็น signature ที่ใครไปถึงถิ่นก็ต้องทาน ถ้าไม่ได้ทานถือว่ามาไม่ถึงแหล่งต้นทางของอาหารนั้น ซึ่งข้าวแช่นั้นได้ถูกนำไปดัดแปลงเป็นอาหารชาววังโดยเพิ่มการอบควันเทียนในน้ำลอยดอกมะลิที่ใช้ผสมกับข้าวแช่ ให้มีความหอมน่ารับประทานยิ่งขึ้น ข้าวแช่ชาววังนี้กลายเป็น signature ของคนเพชรบุรี โดยเฉพาะบริเวณเขาวัง หรือขนมตระกูลทองทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น ฝอยทอง ทองหยิบ ทองหยอด ต้นกำเนิดก็ไม่พ้นท้าวทองกีบม้า (มารีอา กียูมาร์ ดีปีญา) ภรรยาของเจ้าพระยาวิชัยเยนทร์ (สมัยพระนารายณ์มหาราช)

มารู้จักการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) กัน, การท่องเที่ยวเชิงอาหาร, วัฒนธรรมอาหารและการท่องเที่ยว, อาหารท้องถิ่นกับการท่องเที่ยว, ประสบการณ์ท่องเที่ยวเชิงอาหาร

ขอบคุณรูปภาพจาก ThePublisherth.com
3. Creative Industries
อุตสาหกรรมที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นทุนมีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องกับอาหารได้ทั้งสิ้น เพราะการนำเสนออาหารเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่สะท้อนวิถีชีวิต รสนิยม และทิศทางของอาหารตามยุคสมัย นับตั้งแต่ภาชนะที่ใส่อาหาร ไปจนถึงนวัตกรรมด้านอาหาร รางวัลด้านอาหาร ดนตรี การแสดง วรรณกรรม ที่ล้วนสามารถทำให้อรรถรสของอาหารเป็นได้มากกว่าอิ่มท้อง แต่สร้างสรรค์ให้อิ่มสมอง อิ่มตา และอิ่มใจ
ซึ่งความคิดสร้างสรรค์นั้นต้องอาศัยรสชาติอาหารที่กลมกล่อมมีความเป็นเอกลักษณ์ รูปแบบที่มีศิลปะในการถ่ายทอดวัฒนธรรมและขนมธรรมเนียม โดยอาศัยสื่อและช่องทางต่างๆในการประชาสัมพันธ์ เช่น IG FB Line Tiktok เป็นต้น และส่วนที่ขาดไม่ได้คือหัวใจแห่งการบริการ ทุกองค์ประกอบล้วนมีความสำคัญทั้งสิ้น ต้องใช้การประสมประสานที่มีความโดดเด่นให้นักท่องเที่ยวได้เกิดความประทับใจให้มากที่สุด เพื่อการกลับมาเยี่ยมเยียนของนักท่องเที่ยว ราวกับเป็นสมาชิกในครอบครัวที่คิดถึงและไปมาหาสู่กันเสมอๆ

มารู้จักการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) กัน, การท่องเที่ยวเชิงอาหาร, วัฒนธรรมอาหารและการท่องเที่ยว, อาหารท้องถิ่นกับการท่องเที่ยว, ประสบการณ์ท่องเที่ยวเชิงอาหาร

4. Sustainable Tourism
การผลักดันการพัฒนาอย่างยั่งยืนบนฐานของการท่องเที่ยว อนุรักษ์สถานที่ให้มีความสมบูรณ์เชิญชวนนักท่องเที่ยวให้มาเยี่ยมชม ส่งเสริมเรื่องราวท้องถิ่นและตำนานที่ใครๆก็อยากรู้ อยากมาสัมผัส ส่งเสริมการใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่นหรือชุมชนนั้น เพื่อสร้างโอกาสให้เกิดความคงอยู่ของความหลากหลายทางชีวภาพ การจัดการเศษอาหารเหลือทิ้ง คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การปกป้องมรดกทางอาหารของท้องถิ่นไม่ให้สูญหายตามกาลเวลา รวมทั้งทำให้เมนูอาหารนั้นกลายเป็นสัญลักษณ์ของพื้นที่ เปิดประสบการณ์ท่องเที่ยวอย่างลึกซึ้งและยั่งยืนแก่ผู้มาเยือน
เราพานักศึกษาออกทริปเพื่อท่องเที่ยวและทำกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องด้วยอาหารทุกปี น้องๆที่อยากมาสัมผัสและเรียนรู้เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงอาหารในบรรยากาศที่หลากหลายในแต่ละชุมชนของแต่ละจังหวัด มาพบกันที่หลักสูตรสาขาวิชาเทคโนโลยีอาหารและนวัตกรรม กลุ่มวิชาเอกเทคโนโลยีทางอาหาร และ กลุ่มวิชาเอกนวัตกรรมอาหาร สามารถติดตามเรื่องราวดีๆ จากสาขาวิชาเทคโนโลยีอาหารและนวัตกรรม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ทางช่องทางด้านล่างนี้ รอพบน้องๆอยู่นะคะ

Website: https://science.utcc.ac.th/major_fti/
FB Page: https://www.facebook.com/FoodTechInnovationUTCC
YouTube: https://www.youtube.com/@foodtechnologyandinnovatio2253
TikTok: https://www.tiktok.com/@fti_utcc
IG: https://instagram.com/fti_utcc

#เทคโนโลยีอาหารและนวัตกรรม #fti_utcc #scitech_utcc #foodscience #foodtech #foodinnovation #UTCC #เด็กหัวการค้า #มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย #หอการค้า #หอการค้าไทย#TCAS #เด็กซิ่ว #ทุนการศึกษา #dek69

ผศ.สุภางค์ เรืองฉาย